วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

Sagmeister Talking

กราฟฟิกดีไซน์ในแบบของ Stefan Sagmeister

ในความคิดของสเตฟาน แซกไมสเตอร์ กราฟฟิกดีไซน์คือภาษาพิเศษที่มีพลังดึงดูดผู้คนได้ในเวลาอันสั้น
ฉะนั้นเขาจึงให้ความสำคัญกับทุกรายละเอียดของการออกแบบ ตั้งแต่ความหมายไปจนถึงรูปแบบ
และวิธีการนำเสนอในงานชุมนุมทางความคิด “Creativities Unfold, Bangkok 2007 – 2008” ณ กรุงเทพมหานคร
สเตฟาน แซกไมสเตอร์เล่าถึงชีวิตการทำงานและผลงานต่างๆ ของเขาในอดีต ซึ่งทำให้ผู้ฟังสัมผัสได้ถึงนัยสำคัญ
เบื้องหลังความงามและปรัชญาการทำงานของชายคนนี้

ประสบการณ์และผลงานใน
ชีวิตของเขาปรับเปลี่ยนและเติบโตตามวันเวลา แซกไมสเตอร์เล่าถึงชีวิตนักออกแบบของเขาใน5 ประเด็นหลักๆ ดังต่อไปนี้
1. การออกแบบเพื่องานดนตรี
2. การออกแบบเพื่อสังคม
3. การออกแบบสำหรับองค์กร
4. การออกแบบให้ศิลปิน และ
5. ออกแบบอย่างนักประพันธ์
ในช่วงก่อนปี ค.ศ. 2000 แซกไมสเตอร์ อิงค์ ทำงานออกแบบให้กับอุตสาหกรรมดนตรีเป็นหลัก
เขาเคยออกแบบปกอัลบั้มและโปสเตอร์ให้กับวงดนตรีชื่อดังระดับโลก
อย่างเดอะ โรลลิ่ง สโตนส์ โลว์ รีด หรือเดวิด เบิร์นมาแล้ว แต่ในช่วงใกล้สิ้นสหัสวรรษที่ผ่านมา
แซกไมสเตอร์หันมาให้ความสนใจกับการออกแบบเพื่อสังคม เขาเลือกที่จะหันหลังให้ธุรกิจ
และอุทิศเวลาหนึ่งปีเต็ม (ปี ค.ศ. 2000) ให้กับการทดลองด้านการออกแบบของตนเองและเพื่อนๆ
ตลอดหนึ่งปีนั้น แซกไมสเตอร์ทำงานออกแบบเพื่อสังคมหลายอย่าง
ไม่ว่าจะเป็นงานออกแบบโลโก้ใหม่ให้กับมิวสิคเซ็นเตอร์ในประเทศโปรตุเกส
งานโครงการรณรงค์ให้รัฐบาลสหรัฐแปรงบสนับสนุนจากกองทัพมาให้ภาคการศึกษาแทน
หรืองานออกแบบหนังสือเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน เป็นต้น
หลังจากปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา แซกไมสเตอร์กลับเข้าสู่โลกธุรกิจ และแซกไมสเตอร์ อิงค์ก็กลับสู่ความนิยมอีกครั้ง
พวกเขาทำงานให้กับลูกค้ามากมายหลายประเภท ผลงานใหม่ๆ
มีทั้งงานออกแบบสำหรับองค์กร งานโลโก้ งานหนังสือ และงานโฆษณา
ต่อมาไม่นาน แซกไมสเตอร์ก็มีโอกาสทำงานออกแบบให้กับศิลปินหลายๆ คน
เขาเผยกับผู้ฟังว่า อาจเป็นเพราะด้วยวัยวุฒิที่สูงขึ้น
บวกกับโอกาสที่ได้ไปพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่บ่อยครั้ง เขาจึงตัดสินใจลองทำงานให้กับศิลปินดูบ้าง เพราะในขณะนั้น
เขาเองก็สนใจในโลกศิลปะอยู่ไม่น้อย ส่วนในหัวข้อออกแบบอย่างนักประพันธ์นั้น
แซกไมสเตอร์กล่าวว่าในช่วงหลังๆ นี้ เขาใช้ถ้อยคำและภาษาในงานออกแบบมากขึ้น
แซกไมสเตอร์จดบันทึกเรื่องราวเพื่อย้ำเตือนสิ่งที่คิดและอยากทำ
อยู่เสมอ ซึ่งข้อความในสมุดบันทึกเหล่านี้เองที่กลายมาเป็นผลงานออกแบบชิ้นโบว์แดงของเขาในเวลาต่อมา
เมืองปารีสเคยขอให้แซกไมสเตอร์ออกแบบอะไรก็ได้ลงบนบิลบอร์ดที่ร้างอยู่จำนวนหนึ่ง
โจทย์ข้อเดียวคือให้เป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้คนที่สัญจรอยู่ในละแวกนั้น
แซกไมสเตอร์คัดเลือกข้อความจากสมุดบันทึกของเขาและลองนำเสนอมันด้วยวิธีการใหม่
เขาใช้การถ่ายภาพนำเสนอถ้อยคำเหล่านั้นบนบิลบอร์ด ผลปรากฎว่าสาธารณะชนให้การตอบรับดีมาก
มีการทำซ้ำอีกหลายรอบในหลายๆ เมือง ประเทศสิงคโปร์ก็เคยทำงาน
ในลักษณะเดียวกันนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณค่าทางสังคมและกระตุ้นมุมมองใหม่ในชีวิตของชาวสิงคโปร์
ในช่วงท้ายของการบรรยาย แซกไมสเตอร์พูดถึงเทคนิคที่เขานำมาใช้ในงานออกแบบบ่อยครั้ง
ความน่าสนใจอยู่ที่ว่ามันเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการรับสารด้วย
“กราฟฟิกดีไซน์นั้นต่างจากภาพยนตร์และงานเขียนอยู่มาก ผู้รับสาร
ของเราจะสนใจสิ่งตรงหน้าแค่เพียงไม่นาน เหมือนเวลามีคนยื่นนามบัตรให้คุณ
คุณจะมองผ่านมันเพียงแว้บเดียวเท่านั้น แล้วก็เก็บใส่กระเป๋า หรือถ้าเป็นหน้าเว็บไซต์ คุณก็อยู่กับมันแค่นาทีสองนาทีเอง”
“ภายในเวลาสั้นๆ ตรงนั้น เราต้องดึงความสนใจจากผู้รับสารให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นนามบัตร หนังสือ หรืออะไรก็ตาม
อาจจะออกแบบให้มันเคลื่อนไหวได้ มีรูปร่างหน้าตาที่ไม่ธรรมดา ทำยังไงก็ได้ให้ผู้คนใช้เวลาอยู่กับผลงานนานขึ้นกว่าปกติ
จริงๆ กลเม็ดเรียกความสนใจมันก็มี หลายอย่างนะ มุขตลกหรือการแกล้งให้ตกใจก็เป็นวิธีหนึ่ง
แต่สำหรับ ผมแล้ว ผมชอบให้คนมีส่วนร่วมในการรับชมผลงานของผมมากกว่า” แซกไมสเตอร์กล่าวปิดท้าย

ไม่มีความคิดเห็น: